
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับพระอัจฉริยะภาพอันเกริกไกรด้านสัตวแพทย์
นับเป็นความโชคดีของพสกนิกรชาวไทยที่ได้รับพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์จักรีที่ทรงมีพระปรีชาสามารถหลากหลายแขนง โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ จนได้รับการถวายพระสมัญญานาม “เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดียิ่งๆขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม อีกทั้งยังทรงเป็นผู้ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ที่ทรงทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้าวิจัยในสาขาต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก และทรงประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ งานวิจัยผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็งและมีฤทธิ์เป็นยารักษาโรค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตัวยาใหม่เพื่อรักษาโรค งานวิจัยทางชีวเวชศาสตร์ การป้องกันและบริหารจัดการอันตรายจากพิษสารเคมีในสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการบรรเทาโรคภัยที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองคำอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เหรียญเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์ที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางวิชาการ และการส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์ โดยทรงเป็นบุคคลที่ 3 ของโลกและเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีพระองค์แรกที่ได้รับรางวัลนี้ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2529
ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข การสนับสนุนเรื่องการศึกษาวิจัยทางวิชาการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข รวมทั้งความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์ จึงทรงก่อตั้งกองทุนจุฬาภรณ์ขึ้น และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย
ต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม 2530 ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น และทรงเป็นองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ส่งเสริมความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากรสาขาวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งระดมนักวิชาการที่มีศักยภาพและวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งให้การศึกษาและฝึกอบรมอย่างครบวงจร กอปรกับแนวพระดำริให้ขยายภารกิจด้านการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาที่มีความต้องการสูงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ขึ้นในปี พ.ศ.2548 และจากการที่ทรงรับเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็งด้วยพระองค์เอง อีกทั้งทรงพบว่าคนไทยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มในอัตราที่สูงมากขึ้น จึงทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม อีกทั้งให้เป็นศูนย์วิจัยด้านโรคมะเร็งที่มีความเป็นเลิศทางการวิจัย วิชาการ และการบำบัดรักษา พร้อมทั้งพัฒนาเป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค โดยมีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากลรองรับ
นอกจากนี้ ยังทรงจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ(Cyclotron and PET Scan) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการตรวจโดยสารเภสัชรังสี เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่สามารถติดตาม ตรวจวัด ประเมิน และวิเคราะห์ การทำหน้าที่ของอวัยวะนั้นๆ ในระดับเซลล์เมตาบอลิสม์ โดยให้รายละเอียดการวินิจฉัยโรคและระยะของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โรคทางสมอง และหัวใจ
ในด้านของสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีพระปณิธานแน่วแน่ในการสร้างเสริมความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย และให้ความช่วยเหลือ ฝึกอบรมแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ จากผลของการทรงงานอย่างต่อเนื่อง จึงทรงเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องในแวดวงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ คณะกรรมการรางวัลฮอลแลนเดอร์ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็งและพิษ วิทยาสิ่งแวดล้อม และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับรางวัล EMS Hollaender International Award ประจำ ปี ค.ศ. 2002 และในปีพ.ศ. 2547 สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (IUCN The World Conservation Union) สวิตเซอร์แลนด์ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก อีกด้วย
นอกจากจะทรงได้รับการยอมรับในพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติแล้ว พระองค์ยังทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกิจการด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย งานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การจัดการป่าไม้ การจัดการสิ่งแวดล้อม การเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลรวมไปถึงงานส่งเสริมสถานภาพทางสังคมของสตรีไทยอันเป็นที่ปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นแก่พสกนิกรชาวไทย นอกเหนือจากการทรงงานด้านวิทยาศาสตร์แล้ว พระองค์ยังทรงมีพระอัจฉริยะภาพในด้านศิลปะและการดนตรีอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั้งชาวไทยและทั่วโลกอีกด้วย
อีกหนึ่งความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ของพสกนิกรชาวไทยคือ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีความสนพระทัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง พระองค์ทรงเลี้ยงสุนัขหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ยังทรงมีพระเมตตารับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของพันธุ์ผสม สุนัขพิการ อีกทั้งกิ้งก่าพันธุ์เบียสดราก้อน มาอนุเคราะห์ กอปรกับพระองค์ทรงมีความสนพระทัยในงานด้านสัตวแพทย์ โดยทรงเสด็จเป็นการส่วนพระองค์มาทอดพระเนตรการผ่าคลอดสุนัขทรงเลี้ยง และทรงช่วยลูกสุนัขหลังคลอดด้วยพระองค์เอง ณ โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีความสนพระทัยในการศึกษาด้านสัตวแพทย์ โดยได้เข้าศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพทางสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) Doctor of Philosophy Program in Bio-Veterinary Science (International Program) ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2554 เป็นต้นมา ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นกับบทเรียนที่พระอาจารย์แต่ละท่านถ่ายทอดถวาย โดยเห็นได้จากทรงรับสั่ง
“ขอให้อาจารย์ผู้ถวายพระอักษร ถวายบทเรียน และตำราล่วงหน้า เพื่อจักได้ทรงเตรียมพระองค์ศึกษามาก่อน ซึ่งจะทำให้ทรงเข้าใจในบทเรียนได้เพิ่มขึ้น”
ตลอดระยะเวลาการศึกษา ทรงมีพระวิริยะ อุตสาหะ ในการศึกษาเล่าเรียนเป็นอย่างยิ่ง แม้จะทรงมีพระราชกรณียกิจมากก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงสละเวลามาที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างสม่ำเสมอ พระองค์ทรงมีความสนพระทัยในด้านการวางยาสลบในสัตว์ โดยได้เสด็จทรงงานด้านการวางยาสลบ ให้กับโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มากกว่า 125 วัน โดยทรงวางยาให้กับสัตว์ป่วยทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ ซึ่งต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีทางศัลยกรรม รวมทั้งที่ต้องได้รับการวินิจฉัยด้วยเครื่องมือ CT scan หรือ MRI
ระหว่างทรงงานด้านวางยาสลบ ทรงมีความตั้งพระทัยสูงยิ่ง โดยทรงเฝ้าระวังสัญญาณชีพของสัตว์ป่วยตลอดเวลาขณะสลบ ตลอดจนเฝ้าระวังในระหว่างการฟื้นสลบจนกระทั่งสัตว์ตื่นเต็มที่ด้วยความเอาพระทัยใส่อย่างดียิ่ง พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (วิทยาศาสตร์ชีวภาพทางสัตวแพทย์) หลักสูตรนานาชาติ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ “Effect of Morphine and Morphine-Tramadol Infusions in Sevoflurane-Anesthetized Dogs” และสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีผลงานตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสัตวแพทย์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติได้แก่ เรื่อง Effect of continuous intravenous infusion of morphine and morphine-tramadol on the minimum alveolar concentration of sevoflurane and electroencephalographic entropy indices in dogs. ในวารสาร Veterinary Anaesthesia and Analgesia ปี ค.ศ. 2015, Optimal cutoff points of entropy indices for use in predicting responses elicited during determination of minimum alveolar concentration of sevoflurane in dogs. ในวารสาร American Journal of Veterinary Research ปี ค.ศ. 2015 และ Evaluating the effects of continuous intravenous infusions of tramadol and tramandol-lidocaine on sevoflurane minimum alveolar concentration (MAC) and entropy values in dogs. ในปี ค.ศ.2019 และทรงมีผลงานเผยแพร่ในที่ประชุมวิชาการทางสัตวแพทย์ ณ แนสวิล รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่อง Entropy Indices are Predictive of an Awake Response Elicited During Sevoflurane Anesthesia in Dogs ในงาน American College of Veterinary Internal Medicine (ACVIM Forum) ในระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายน ค.ศ.2014
เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2557 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระราชทานเครื่องดมยาสลบ และเครื่องเฝ้าระวังสัญญาณชีพระหว่างสลบ ให้แก่ โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยเครื่องดมยาสลบดังกล่าวมีความทันสมัยมากที่สุดในวงการสัตวแพทย์ไทย โดยสามารถใช้ได้ทั้งยาสลบประเภท Sevoflurane และ Desflurane ซึ่งเป็นยาสลบที่มีความปลอดภัยสูง โดยในเวลาต่อมาได้ทรงมีพระดำริในการติดตั้งเครื่องดมยาสลบดังกล่าวบนรถผ่าตัดเคลื่อนที่ ซึ่งภายในมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องดมยาสลบ และเครื่องเฝ้าระวังสัญญาณชีพ เพื่อให้การผ่าตัดทำหมันเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามหลักวิชาการทางสัตวแพทย์
ในช่วงปลายปีพุทธศักราช 2554 เมื่อประเทศไทยประสบมหาอุทกภัยในแขตภาคกลาง รวมไปถึงกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ประชาชนตลอดจนสัตว์เลี้ยงต่างๆ เดือนร้อน ไร้ที่อยู่อาศัย เจ็บป่วย และขาดแคลนอาหาร ด้วยพระเมตตาของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมีต่อพสกนิกร และสรรพสัตว์ จึงทรงมีพระดำริให้จัดตั้ง “โครงการสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์” โดยให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทีมสัตวแพทย์ ออกให้บริการประชาชนในด้านสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย และทรงออกหน่วยช่วยเหลือประชาชนด้วยพระองค์เอง ภายหลังทรงโปรดให้สัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ออกหน่วยสัตวแพทย์ร่วมกับแพทย์อาสาของ มูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเงินจากการจำหน่ายเสื้อยืดคุณทองแดง จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถา” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2546 ในการออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ รวมกับมูลนิธิหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ที่จังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2554 พระองค์ทรงมีพระดำริในการช่วยดำเนินการระดมทุนช่วยสัตว์ป่วยอนาถา และมีพระประสงค์ให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ โดยยกระดับกองทุนรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถาเป็น “มูลนิธิรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยอนาถา โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Foundation for the Heath Care of Abandoned Animals) โดยจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2556 เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของสัตว์ที่มีปัญหา ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้บางส่วนหรือทั้งหมด พระองค์ได้ทรงจัดตั้ง ร้าน “ดร.น้ำใจ” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2556 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาจำหน่ายใน โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่พระตำหนักจักรีบงกช นอกจากนี้ยังมีการออกร้านตามหน่วยงาน ห้างร้านต่างๆ เพื่อหารายได้สนับสนุน ร้าน ดร.น้ำใจอีกด้วย ต่อมาทรงมีพระกรุณาโปรดให้เปลี่ยนชื่อมูลนิธิฯ เป็น “มูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วย และสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (Tippimarn for Abandoned and Sickness Animals Foundation under the Royal Patronage of Her Royal Highness Princess Chulabhorn)” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วย และสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (Tippimarn for Abandoned and Sickness Animals Foundation under the Royal Patronage of Her Royal Highness Princess Chulabhorn)”
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระประสงค์ให้ โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยแบบค่อยเป็นค่อยไป และสัตวแพทย์ควรมีบทบาทช่วยดำเนินการ ซึ่งการนี้รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 214/2559 แต่งตั้งกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี รวม 33 ราย อีกทั้งทรงมีพระกรุณาธิคุณรับเป็นประธานกรรมการฯ พร้อมพระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงร่วมเป็นรองประธาน โดยทรงพระราชทานนโยบาย ดังนี้
- มีพระประสงค์ให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้า
- จะดำเนินการโครงการฯนี้ให้ดีที่สุด เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระเมตตาต่อสัตว์เลี้ยง และทรงเป็นพ่อแห่งชาติของประชาชนคนไทยทุกคน
- ทรงขอให้ชีวิตน้อยๆของน้องหมามีความเป็นอยู่พอมีความสุขในช่วงชีวิตที่เกิดมา
- เป็นการสร้างงานให้ประชาชนในท้องถิ่น
- การก่อสร้างศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดที่มีมาตราฐานตามพระนโยบาย ในเบื้องต้นประกอบด้วย ๕ ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัย
บุรินทร์ จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์พักพิงจังหวัดอุดรธานี ศูนย์พักพิงกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์พักพิงกลาง ศูนย์พักพิงจังหวัดนครศรีธรรมราช และศูนย์พักพิงจังหวัดเชียงใหม่ - ให้ฝังไมโครชิป เพื่อลงทะเบียนสุนัข การให้ความรู้ และความรับผิดชอบกับประชาชนว่าถ้าเลี้ยงสัตว์จะต้องทำการฉีดวัคซีน และต้องดูแลอย่างไร และขอให้มีการสอดแทรกความรู้ และปลูกจิตสำนึกรับผิดชอบ ไว้ในบทเรียน ควรมีมาตราการภาครัฐถึงบทลงโทษการปล่อยสุนัข
ทางโครงการมีแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานฯ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ รับผิดชอบโดย กรมปศุสัตว์
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การจัดการระบบศูนย์พักพิงสัตว์ รับผิดชอบโดย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดเชียงใหม่
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุม และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน รับผิดชอบโดย กรมควบคุมโรค
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การขับเคลื่อนการดำเนินงานโรคพิษสุนัขบ้าในท้องถิ่น รับผิดชอบโดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การประชาสัมพันธ์ รับผิดชอบโดย กรมประชาสัมพันธ์
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การบูรณาการ และการบริหารจัดการข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า รับผิดชอบโดย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมปศุสัตว์
ยุทธศาสตร์ที่ ๗ การติดตามและประเมินผล รับผิดชอบโดย สำนักตรวจราชการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๘ การพัฒนานวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี รับผิดชอบโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มีเป้าประสงค์ ไม่มีคน และสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน
จากการได้ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ทรงออกหน่วยทำหมันเคลื่อนที่หลายครั้งในพื้นที่ต่างๆด้วยพระองค์เอง ทำให้คณะกรรมการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ขอพระราชทานกราบทูลให้ทรงเป็นผู้นำในการดำเนินการไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทย แต่ขอให้ดำเนินการทั้งทวีปเอเชีย นำมาซึ่งชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย และนำมาซึ่งความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาวไทย อย่างหาที่สุดมิได้
ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2561 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเสด็จไปร่วมประชุมการขับเคลื่อนความก้าวหน้าเพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า (Driving Progress Towards Rabies Elimination) โดยทรงแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ในประเทศไทย โดยน้อมนำพระราโชบาย เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ ณ กรุงกาฏมาณฑุ ประเทศเนปาล
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระดำริ ให้จัดสร้าง “โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน” ขึ้น ที่ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลสัตว์ที่มีคุณภาพ มาตราฐานระดับสากล โดยโรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมานจัดสร้างขึ้นโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และได้พระราชทานให้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้ดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนหนึ่งของโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้มีการจัดสร้าง “ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์” ซึ่งเป็นศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดขนาดใหญ่ขึ้นที่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยศูนย์ดังกล่าวมีโรงพยาบาลสัตว์ และสัตวแพทย์ให้บริการประชาชน พร้อมทั้งดูแลสุนัขจรจัดภายในศูนย์ฯด้วย โดยได้ทรงเสด็จเปิดศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์ เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2562
ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2562 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระราชทานวโรกาสให้ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมคณะสัตวแพทย์ เจ้ากรมการสัตว์ทหารบก และผู้บังคับการสุนัขทหาร นำ นางสาวคีริน เตชะวงศ์ธรรม ผู้พิการทางสายตา พร้อมครอบครัว และสุนัขนำทาง “ลูเต้อร์” เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักทิพย์พิมาน เพื่อรับพระราชทานกำลังใจ พร้อมส่งเสริมให้คนไทยเข้าใจการทำงานของสุนัขนำทาง อีกทั้งทรงพระราชทานแนวทางการพัฒนาสุนัขนำทางคนพิการทางสายตาในประเทศไทย โดยเจ้ากรมการสัตว์ทหารบก เป็นผู้รับสนองพระราชดำริ
พระปรีชาสามารถหลากหลายแขนงของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประจักษ์อย่างแจ่มชัด ยังความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างถ้วนหน้า ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ไม่เพียงแต่พสกนิกรชาวไทยจะได้รับจากพระองค์ท่านเท่านั้น หากแต่ประชาชนทั่วโลกก็ได้รับพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ด้วยเช่นกัน